เมนู

จิตฺโต ความว่า บุคคลแม้ตั้งตนไว้ในฐานะต่ำต้อยกว่า เราเว้นจากคนนี้จักไม่
เป็นอยู่ คนนั่นเป็นคติของเรา คนนั่นเป็นผู้นำของเรา ดังนี้ ชื่อว่า เป็นผู้
มีจิตปฏิพัทธ์แล้ว แม้ตั้งตนไว้ในฐานะสูงส่งว่า คนเหล่านี้เว้นเราเสียแล้วย่อม
ไม่เป็นอยู่ เราเป็นคติของคนเหล่านั้น เป็นผู้นำของคนเหล่านั้น ชื่อว่า เป็น
ผู้มีจิตปฏิพัทธ์แล้ว. ก็ผู้มีจิตปฏิพัทธ์แล้วอย่างนี้ ท่านประสงค์เอาในพระสูตรนี้.
บทว่า เอตํ ภยํ ท่านกล่าวหมายถึงภัยที่ยังประโยชน์ให้เสื่อมนั่น
คือ ความเสื่อมจากสมบัติของตน. บทว่า สนฺถเว ความว่า การเชยชมมี
3 อย่าง ด้วยสามารถแห่งการเชยชม คือ ตัณหา ทิฏฐิ และมิตร. ในการ
เชยชม 3 อย่างนั้น ตัณหาแม้ 108 ประเภท ชื่อว่า ตัณหาสันถวะ ทิฏฐิ
แม้ 62 ประเภท ชื่อว่า ทิฏฐิสันถวะ การอนุเคราะห์มิตร ด้วยความเป็นผู้
มีจิตปฏิพัทธ์แล้ว ชื่อว่า มิตรสันถวะ มิตรสันถวะนั้น ท่านประสงค์เอาใน
พระสูตรนี้ ด้วยว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น เสื่อมจากสมาบัติก็เพราะมิตร
สันถวะนั้น ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เราเล็งเห็นภัยนั่นใน
ที่กล่าวแล้วนั้นแล.
มิตตสุหัชชคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์

คาถาที่ 4


คาถาว่า วํโส วิสาโล ดังนี้ มีอุบัติเหตุอย่างไร ?
ได้ยินว่า ในกาลก่อน พระปัจเจกโพธิสัตว์ 3 องค์ บวชในพระ-
ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า กัสสป บำเพ็ญคตปัจจาคตวัตร

สิ้น 20,000 ปี อุบัติในเทวโลก เคลื่อนจากเทวโลกนั้นแล้ว ผู้เป็นหัวหน้า
เกิดในราชตระกูลในกรุงพาราณสี นอกนี้ เกิดในราชตระกูล ในปัจจันต-
ประเทศ ทั้งสองนั้น เรียนกรรมฐาน สละราชสมบัติ บวชเป็นพระปัจเจก-
พุทธเจ้า โดยลำดับ อยู่ที่เงื้อมนันทมูลกะ ในวันหนึ่งออกจากสมาบัติ ระลึก
ว่า พวกเราทำกรรมอะไร จึงบรรลุถึงโลกุตรสุขนี้ พิจารณาอยู่ ได้เห็นจริยา
ของตน ในกัสสปพุทธกาล ลำดับนั้น ระลึกอีกว่า คนที่ 3 อยู่ทีไหน
เห็นคนที่ 3 เสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี ระลึกถึงคุณของหัวหน้านั้น คิดว่า
โดยปกติเทียว พระราชาพระองค์นั้น ทรงถึงพร้อมด้วยคุณมีความเป็นผู้
ปรารถนาน้อยเป็นต้น ทรงโอวาทพวกเรา ผู้ประพฤติ อดทนต่อคำพูด
ทรงติเตียนบาป เอาเถิด พวกเราแสดงอารมณ์แล้ว จะเปลื้องพระองค์ ดังนี้
แสวงหาโอกาสอยู่ ในวันหนึ่ง เห็นพระราชาพระองค์นั้น ทรงประดับประดา
ด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง กำลังเสด็จไปสู่พระราชอุทยาน แล้วเหาะไปทางอา-
กาศยืนอยู่ที่โคนกอไม้ไผ่ ที่ประตูพระราชอุทยาน มหาชนกำลังแลดูพระราชา
ด้วยการดูพระราชาของตน.
ต่อจากนั้น พระราชาทรงแลดูว่า มีใครหนอแลขวนขวายในการดูเรา
ทรงเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย และพร้อมกับทรงเห็นนั่นเทียว พระองค์
ทรงเกิดความเสน่หาในพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น พระองค์จึงเสด็จลงจากคอ
ช้าง เสด็จเข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ด้วยอากัปกิริยาอันสงบ แล้ว
ตรัสถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านมีชื่ออย่างไร พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น
ทูลตอบว่า มหาบพิตร พวกอาตมา ชื่อว่า ผู้ไม่เกี่ยวข้อง.

ร. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่ว่า ผู้ไม่เกี่ยวข้อง มีประโยชน์ อย่างไร.
ป. มหาบพิตร ประโยชน์ คือ ความไม่เกี่ยวข้อง ต่อแต่นั้น เมื่อ
จะแสดงกอไผ่นั้น จึงทูลว่า มหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษมีดาบในมือ
ตัดรากกอไผ่นั้น ซึ่งเกี่ยวพันราก ลำต้นและกิ่ง โดยประการทั้งปวงอยู่ ดึงมา
ก็ไม่อาจยกขึ้นแม้ฉันใด พระองค์ถูกตัณหาพายุ่งเกี่ยวให้นุงทั้งข้างในและข้าง-
นอก เป็นผู้เกี่ยวข้องซ่านไป ติดอยู่ในตัณหาพายุ่งนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน
หน่อไม้ไผ่นี้ แม้จะอยู่ในท่ามกลางกอไผ่นั้น แต่เพราะกิ่งยังไม่เกิด จึงไม่ติด
กับอะไรอยู่ และใครก็อาจเพื่อจะตัดยอดหรือรากยกไปได้แม้ฉันใด พวกอาตมา
ไม่เกี่ยวข้องในที่ไหน ๆ ย่อมเที่ยวไปทั่วทิศฉันนั้นเหมือนกัน แล้วเข้าฌาน
ที่ 4 ในทันใดนั้นแล เมื่อพระราชาทรงดูอยู่นั่นเทียว ก็เหาะไปสู่เงื้อมภูเขา
นันทมูล.
แต่นั้น พระราชาทรงพระราชดำริว่า แม้เราพึงเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้อง
อย่างนี้ในกาลไหนหนอแล แล้วประทับนั่งในที่นั้นแล พระองค์ทรงเห็นแจ้ง
ได้กระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณ ถูกถามถึงกรรมฐานโดยนัยก่อนเทียว
จึงตรัสพระคาถานี้.
ในคาถานั้น บทว่า วํโส ได้แก่ ไม้ไผ่. บทว่า วิสาโล ได้แก่
กว้างขวาง. อักษรลงในอรรถอวธารณะ หรือ เอว อักษร เอว อักษร
ในที่นี้ พึงเห็นด้วยการสนธิ. เอว อักษรเชื่อมกับบทปลายของบทว่า วิสาโล
ข้าพเจ้าจะประกอบเอวอักษรนั้นในภายหลัง. บทว่า ยถา ได้แก่ การเปรียบ-
เทียบ. บทว่า วิสตฺโต ได้แก่ ติดแล้ว คือ พาให้นุง เย็บให้ติดกัน.
บทว่า ปุตฺเตสุ ทาเรสุ จ คือ ในบุตร ธิดา และภริยา. บทว่า ยา

อเปกฺขา ได้แก่ ตัณหาอันใด คือ ความเยื่อใยอันใด. บทว่า วํสกฬีโรว
อสชฺชมาโน
คือ ไม่ข้องอยู่เหมือนหน่อไม้. มีอธิบายอย่างไร ไม้ไผ่กอใหญ่
เกี่ยวก่ายกันฉันใด ความเยื่อใยในบุตรและภรรยา แม้นั้น ชื่อว่า ข้องอยู่แล้ว
เพราะความเป็นธรรมเย็บวัตถุเหล่านั้นตั้งอยู่ ฉันนั้น เรานั้นเห็นโทษในความ
เยื่อใยอย่างนี้ว่า ข้องอยู่แล้ว ด้วยความเยื่อใยนั้น ดุจไม้ไผ่กอใหญ่ฉะนั้น
แล้วตัดเยื่อใยนั้น ด้วยมรรคญาณไม่เกี่ยวข้อง ด้วยอำนาจแห่งตัณหา มานะ
และทิฏฐิ ในรูปเป็นต้น หรือในทิฏฐิเป็นต้น หรือในโลภะเป็นต้น หรือใน
กามภพเป็นต้น หรือในกามราคะเป็นต้น ดุจหน่อไม้ไผ่นี้ จึงบรรลุปัจเจก-
โพธิญาณ ดังนี้. บทที่เหลือพึงทราบ โดยนัยก่อนนั่นแล.
วังสกฬีรคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์

คาถาที่ 5


คาถาว่า มิโค อรญฺญมฺหิ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร ?
ได้ยินว่า ภิกษุรูปหนึ่งเป็นพระโยคาวจร ในพระศาสนาของพระผู้มี
พระภาคเจ้า พระนามว่า กัสสป ทำกาลกิริยาแล้ว เกิดในตระกูลเศรษฐี
อันมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ในกรุงพาราณสี เขาเป็นคนมีราคะ เพราะ
เหตุนั้น จึงประพฤติล่วงภรรยาคนอื่น ได้ถึงแก่กรรมในชาตินั้นแล้ว เกิดใน
นรก หมกไหม้ในนรกนั้นแล้ว ได้ถือปฏิสนธิเป็นหญิง ในท้องของภรรยา
เศรษฐี ด้วยเศษวิบากที่เหลือ. ร่างกายทั้งหลาย ของสัตว์ทั้งหลายที่มาจาก
นรก ย่อมเป็นของร้อน เพราะเหตุนั้น ภรรยาเศรษฐีทรงครรภ์นั้น ด้วย
ท้องที่ร้อน โดยลำบากยากเข็ญ ได้คลอดเด็กหญิงโดยกาล.